
กลุ่มพัฒนาระบบบริหารเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งกลุ่มงานพัฒนาระบบบริหาร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกกำหนดให้มีตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1009.4/10 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 เป็นหน่วยงานภายในระดับกอง ขึ้นตรงต่อเลขาธิการ กพฐ. ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2546
กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2556 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 2/2 ในสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้มีกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
เพื่อทําหน้าที่หลักในการพัฒนาการบริหารของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการ โดยมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) เสนอแนะและให้คําปรึกษาแก่เลขาธิการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ
ภายในสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(2) ติดตาม ประเมินผล และจัดทํารายงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการภายในสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(3) ประสานและดําเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่าง ๆ
และหน่วยงานในสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(4) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่
ได้รับมอบหมาย
โดยแบ่งการบริหารงานเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มภารกิจส่งเสริมและประสานการพัฒนาระบบราชการ
มีหน้าที่ในการส่งเสริมพัฒนาระบบราชการ ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรมการบริหารการเปลี่ยนแปลงการพัฒนากิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก และงานที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้
- ศึกษา วิเคราะห์ สำรวจ รวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะให้คำปรึกษาผู้บริหารด้านการพัฒนานวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร อันนำไปสู่การพัฒนายกระดับสู่ระบบราชการ 4.0 ให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและส่วนราชการในสังกัด
- ศึกษา วิเคราะห์วางแผนแนวทางการพัฒนาองค์กร เป็นไปตามแนวทางคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อการพัฒนาระบบราชการเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อให้ระบบราชการมีความเข้มแข็งทันสมัย สอดรับแนวทางการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA 4.0) ให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและส่วนราชการในสังกัด
- ศึกษา วิเคราะห์ ส่งเสริมปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานมุ่งเน้นสร้างความคิดริเริ่มประยุกต์องค์ความรู้ในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างคุณค่า มีความยืดหยุ่น และสร้างความสามารถในการตอบสนองกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันเวลา ตลอดจนเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูง
- ศึกษา วางแผนพัฒนาส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กร เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการปฏิบัติงานที่ดี การปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด (mindset) พัฒนาเพิ่มทักษะให้มีสมรรถนะที่จำเป็น และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง อันจะช่วยทำให้สามารถแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change leader) เพื่อสร้างคุณค่า (public value) และประโยชน์สุขให้แก่ส่วนรวม
- ศึกษา วิเคราะห์ พัฒนาเป็นการยกระดับการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และส่วนราชการในสังกัดให้สูงขึ้นไปกว่าการประสานงานกัน (coordination) หรือทำงานด้วยกัน (cooperation) ไปสู่การร่วมมือกัน (collaboration) อย่างแท้จริง
- กำกับ ติดตาม ควบคุม เร่งรัด ตรวจสอบ ให้คำปรึกษาแนะนำ กลั่นกรองในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทั่วไป งานบริหารแผนงบประมาณ งานการเงินและพัสดุ งานควบคุมภายใน งานบริหารความเสี่ยง งานเลขานุการผู้บริหาร และงานบริหารบุคคลของกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
- สนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจกลุ่มงานอื่น และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าประสงค์
2. กลุ่มภารกิจติดตามและประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ
รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการตามแนวทางของหน่วยงานภายนอกต่าง ๆ ที่มาประเมินภาพรวมของส่วนราชการ โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักและลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้
- ศึกษา วิเคราะห์ สรุปประเด็นสําคัญ เสนอความเห็น วางแผนการดำเนินการ และส่งเสริมการปฏิบัติราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการและการประเมินอื่น ๆ ที่หน่วยงานกลางเป็นผู้กำหนด รวมทั้งแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด
- ศึกษา วิเคราะห์ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดตัวชี้วัด เกณฑ์การให้คะแนนของตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการและการประเมินอื่น ๆ ที่หน่วยงานกลางเป็นผู้กำหนด เจรจาและพิจารณาความเหมาะสมของตัวชี้วัด และจัดทำเอกสารคำรับรองการปฏิบัติราชการตามกรอบและแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบแล้วของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
- ศึกษา วิเคราะห์ กำหนดแนวทางส่งเสริมและพัฒนาวิธีการจัดสรรสิ่งจูงใจจากการประเมินผลการปฏิบัติราชการให้แก่ส่วนราชการและบุคลากรในสังกัดให้มีความหลากหลายและเหมาะสม
- ให้คำปรึกษาแก่บุคลากรผู้รับผิดชอบตัวชี้วัดของสำนักส่วนกลางและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- กำกับ ดูแล ติดตาม ประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของสำนักส่วนกลาง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งในเชิงประจักษ์และผ่านระบบรายงานผลเพื่อให้ดําเนินการเปนไปตามนโยบายและเป้าหมายที่กําหนด
- วิเคราะห์ สังเคราะห์ เกณฑ์การประเมินผลตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการและการประเมินอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาระบบรายงานผลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
- ส่งเสริม สนับสนุน และวางแผนการดำเนินการเพื่อสำรวจข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาระบบราชการของสาธารณชน
- ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและการดำเนินการรายงานผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามระบบรายงานผลการประเมิน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาระบบราชการในภาพรวม
- ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้ข้อเสนอแนะเพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัวชี้วัดสำหรับการประเมินหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการให้เกิดความเป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อนในการประเมินผลในภาพรวมของส่วนราชการ
- สนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจกลุ่มงานอื่นและปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าประสงค์
3. กลุ่มภารกิจวิจัยและพัฒนาระบบราชการ
มีหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ส่งเสริมและพัฒนา การพัฒนาระบบราชการ การปรับปรุงโครงสร้างและระบบงาน เพื่อเสนอความเห็นสรุปรายงานและให้ข้อเสนอแนะแก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก และงานที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้
- ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และให้ข้อเสนอแนะ ให้คำปรึกษา และดำเนินการ การทบทวนภารกิจและปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการระดับกรม
- ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ให้ข้อเสนอแนะ ให้คำปรึกษา การทบทวนภารกิจและปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรมและเทียบเท่า รวมทั้งระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
- ศึกษา วิจัย เสนอความเห็นจัดทำข้อเสนอในการกำหนดนโยบาย มาตรการ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการให้สามารถตอบสนองต่อแนวโน้มของโลก (Trends) และทิศทาง
- ในการพัฒนาระบบราชการตามแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี แผนปฏิรูปประเทศ และแผนระดับชาติด้านอื่น ๆ รวมทั้งพระราชกฤษฎีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการ
- ศึกษา วิเคราะห์ และให้ข้อเสนอแนะการปรับกลไกวิธีการบริหารราชการ ระบบงาน กระบวนการทำงาน วิธีปฏิบัติงานของข้าราชการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้การทำงานสามารถบรรลุตามยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับ ติดตาม การพัฒนาระบบราชการเพื่อให้โครงสร้างของส่วนราชการมีการปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ (Adaptive) มีความคล่องตัวรวดเร็ว (Agile) และมีความยืดหยุ่น (Flexible) เพื่อการวิเคราะห์บทบาท หน้าที่และภารกิจของส่วนราชการในอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติราชการ
- ร่วมดำเนินการเพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ บริการข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพส่วนราชการ และการดำเนินการพัฒนาระบบราชการ 4.0 เพื่อให้บุคลากรมีความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน และจัดทํารายงานการพัฒนาระบบราชการของส่วนราชการ สรุปความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานพัฒนาระบบราชการเสนอผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดําเนินการเป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่กําหนด
- สนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจกลุ่มงานอื่น และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย